มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ

มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ
ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ศูนย์บริการคนพิการ

ศูนย์บริการเด็กพิการ

          พ.ศ. 2504 มูลนิธิได้ก่อตั้งศูนย์บริการเด็กพิการขึ้นในที่ราชพัสดุ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิในปัจจุบัน 

          แรกเริ่มเดิมที ศูนย์บริการเด็กพิการนั้น ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนพิการที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดแต่ต้องเดินทางเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาในการรักษาและฟื้นฟูยาวนาน โดยใช้เป็นที่พักระหว่างการรักษา รวมทั้งเป็นสถานที่พักพื้นภายหลังการรักษา และเปิดโอกาสให้คนพิการในกรุงเทพฯ เข้าพักได้  เช่นกันเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในการเตรียมความพร้อมให้คนพิการก่อนเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ

          เมื่อเปิดดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง คนพิการเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ศูนย์บริการเด็กพิการจึงเริ่มค่อยๆ ขยายการบริการไปสู่ด้านอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีความพร้อมทั้งในด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ พี่เลี้ยง พยาบาล ช่างกายอุปกรณ์หรือนักกายอุปกรณ์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และอาสาสมัคร ที่พร้อมดูแลเอาใจใส่และให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก นอกจากนี้ ยังประสานงานกับหน่วยงานและบุคลากรภายนอกอย่างใกล้ชิด ทั้งโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสันทนาการ เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึงและถูกต้องตามหลักวิชา

              ปัจจุบัน “ศูนย์บริการเด็กพิการ” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์บริการคนพิการ” ให้บริการด้านการแพทย์ รวมทั้งที่พัก การเลี้ยงดู เสื้อผ้า อาหาร เครื่องช่วยคนพิการ และกายอุปกรณ์  พร้อมกับการให้บริการพาเด็กไปรับการตรวจ วินิจฉัยรักษา ผ่าตัด พักฟื้น และบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่โรงพยาบาลต่าง ๆ

                ศูนย์บริการคนพิการ จัดให้บริการโดยนักวิชาชีพด้านกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด กายอุปกรณ์ อรรถบำบัด สังคมสงเคราะห์ จิตวิทยา พยาบาล รวมทั้งสอนและฝึกออกกำลังกายโดยการขี่ม้าและว่ายน้ำ แก่เด็กพิการทั้งที่พักประจำอยู่ในศูนย์ฯ และมารับบริการแบบไป – กลับ รวมปีละประมาณกว่า 300 คน

กายภาพบำบัด

กายภาพบำบัด
กายภาพบำบัด
กายภาพบำบัด1

          กายภาพบำบัด คือ วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน วินิจฉัย และบำบัดความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งเกิดจากภาวะของโรค หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยคำแนะนำของคณะกรรมการให้เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์กายภาพบำบัด

          กายภาพบำบัดทางเด็ก ช่วยตรวจหาปัญหาสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่ม โดยการตรวจประเมินแต่ละราย เพื่อวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้หลักการของการเคลื่อนไหว กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และทฤษฎีต่าง ๆ ที่ผสมผสาน และใช้รูปแบบที่หลากหลายในการรักษาความผิดปกติในประชากรเด็ก

          นักกายภาพบำบัดเด็ก จะมีความชำนาญเป็นพิเศษในการวินิจฉัย ให้การรักษา และการจัดการในเด็กทารก เด็ก และวัยรุ่น เกี่ยวกับ ภาวะที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การพัฒนาการ ระบบกล้ามเนื้อประสาท ระบบกระดูก และภาวะโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังจากการคลอดแล้ว การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่ การเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และมัดเล็ก การทรงตัวและความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการแปลผลทางการรับรู้ การรับสัมผัส

วิธีการทางกายภาพบำบัด เพื่อใช้ในการรักษา ได้แก่
– การแนะนำการออกกำลังกาย
– การออกกำลังกายโดยใช้ธาราบำบัด อาชาบำบัด
– การดัดดึงข้อต่อด้วยเทคนิคต่าง ๆ
– การฝึกเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ และความมั่นคงในการทรงท่า
– การฝึกทักษะการใช้รถวีลแชร์ ทักษะการเดินในสถานการณ์ต่าง ๆ
– การรักษาด้วยเทคนิคเฉพาะ เทคนิค Vojta Therapy (วอยต้า) เทคนิคการกระตุ้นการเคลื่อนไหว จากประเทศเยอรมัน
– การวิเคราะห์การเคลื่อนไหวและกลยุทธ์การศึกษา โดยการบำบัดด้วยเทคนิค MAES therapy

กิจกรรมบำบัด

กิจกรรมบำบัด
กิจกรรมบำบัด
กิจกรรมบำบัด

          กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy : OT) คือ การตรวจ ประเมิน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับเด็กที่มีปัญหาทางด้านการเคลื่อนไหว ได้แก่ การทำงานของแขนและมือ, การทำกิจวัตรประจำวัน, การทำงานของอวัยวะในช่องปาก, การดัดแปลงอุปกรณ์ช่วยและอุปกรณ์เสริม เป็นต้น โดยอาศัยเทคนิคและกิจกรรมต่างๆ มาเป็นสื่อในการรักษาเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด

การประเมินทางกิจกรรมบำบัดในเด็กพิการทางกายและการเคลื่อนไหว
1. การประเมินพัฒนาการของเด็ก
2. การประเมินทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
3. การประเมินการทรงตัว
4. การประเมินช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ
5. การประเมินความพร้อมในการเขียน
6. การประเมินเกี่ยวกับการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยว การกลืน
7. การประเมินเกี่ยวกับทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน
8. การประเมินการรับรู้ทางสายตา
9. การประเมินความสามารถในการเล่นของเด็ก
10. ประเมินการรับรู้ทางประสาทสัมผัส

ขอบข่ายงานกิจกรรมบำบัดที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิการทางกายและการเคลื่อนไหว
1. ฝึกการทำงานของแขนและมือ ได้แก่ การเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ, การเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว, การฝึกการหยิบจับลักษณะต่างๆ เป็นต้น
2. ฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การรับประทานอาหาร, การใส่-ถอดเสื้อผ้า, การใช้รถเข็น เป็นต้น
3. กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อในช่องปาก ได้แก่ การเคี้ยว การดูด การกลืน และการลดภาวะน้ำลายไหล
4. จัดทำเฝือกประคองข้อมือและนิ้วมือ รวมทั้งดัดแปลงอุปกรณ์ช่วยและอุปกรณ์เสริม
5. ให้คำแนะนำการดัดแปลงและปรับสภาพบ้าน
ฯลฯ

กายอุปกรณ์

กายอุปกรณ์

          งานกายอุปกรณ์ หมายถึง การตรวจวัดขนาด ออกแบบ ประดิษฐ์ ผลิต ดัดแปลง แก้ไข ซ่อมแซม อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้กับร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว เพิ่มความสวยงามหรือทดแทนอวัยวะส่วนที่ขาดหาย งานกายอุปกรณ์ต้องอาศัยทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะบุคคลค่อนข้างสูง (ร่วมกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัสดุศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านกายวิภาคประยุกต์ ด้านชีวกลศาสตร์และการเคลื่อนไหวประยุกต์พอสมควร)

          งานกายอุปกรณ์มูลนิธิ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตอุปกรณ์ภายนอกร่างกายเพื่อทดแทนรยางค์หรือทดแทนการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วนที่หายไป โดยมีช่างกายอุปกรณ์จะเป็นผู้ขึ้นรูปชิ้นงานกายอุปกรณ์

สังคมสงเคราะห์

สังคมสงเคราะห์
สังคมสงเคราะห์
สังคมสงเคราะห์

          งานสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ฯ ทำงานเพื่อบรรเทาความทุกข์ การบำบัด ฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนพิการ ให้คำปรึกษา แนะนำแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เด็กและครอบครัว อีกทั้งให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมด้านการศึกษา ให้ความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ เนื่องด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการพิจารณาช่วยเหลือ เช่น วิธีการสัมภาษณ์  การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านร่วมกับชุมชนเพื่อติดตามสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว  เป็นต้น

          อีกทั้งการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์จะต้องเป็นตัวกลางในการประสานงานทั้งหมด  ทั้งการประสานงานระหว่างเด็กและผู้ปกครอง โรงเรียน  รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในการพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ ซึ่งจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างภาคภูมิใจด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคม

บทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์
– งานด้านการคัดเลือกเด็กพิการ 
– งานด้านการดูแลเด็กประจำศูนย์ ฯ 
– งานประสานสิทธิ์
– งานติดต่อประสานงาน
– งานเยี่ยมบ้าน
– งานจำหน่ายเด็กและติดตามผล 
– งานสวัสดิการ
– งานให้คำปรึกษา

 

 

พยาบาลและบริบาล

พยาบาล
การทำทันตกรรมแก่เด็ก โดยคณะทันตแพทย์ พอ.สว.
งานพยาบาล

ดูแลสุขภาพอนามัย ใส่ใจสุขภาพช่องปาก จัดสวัสดิการที่เหมาะสม

          ดูแลสุขภาพอนามัย
ควบคู่ไปกับการบำบัดรักษา เด็กพิการทุกคนจะได้รับการดูแลสุขภาพอนามัยเป็นอย่างดีตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น มีที่พักที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ได้รับประทานอาหารมีคุณค่า ถูกหลักโภชนาการ โดยงานพยาบาลของศูนย์ฯ จะทำหน้าที่คอยดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กๆ ตามคำสั่งแพทย์อย่างเข้มงวด ใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน

          ใส่ใจสุขภาพช่องปาก
เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวข้อต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้ตามปกติ ทางศูนย์ฯ จึงได้ร่วมมือกับคณะทันตแพทย์ จากมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ให้บริการตรวจรักษาช่องปาก แก่เด็กพิการ ปีละ 2 ครั้ง

          จัดสวัสดิการที่เหมาะสม
และเพื่อให้เด็กพิการได้รับความสะดวกสบายเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ ศูนย์บริการคนพิการจึงได้จัดสวัสดิการต่างๆ ไว้คอยบริการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

         นอกจากนี้ งานพยาบาลได้ให้การดูแลเด็กเจ็บป่วยทั่วไป จัดให้เด็กได้ไปตรวจติดตามผลการรักษาฟื้นฟูที่โรงพยาบาลตามลักษณะอาการ  หรือตามมติในที่ประชุมเวชศาสตร์ฟื้นฟู

          นำเด็กเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ตามมติในที่ประชุมพิจารณที่มีแผนจะทำการผ่าตัดแก้ไขความพิการทั้งก่อนและหลังจากการผ่าตัด ดูแลให้วัคซีนตามระบาดวิทยา ควบคุมน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน  เป็นต้น