มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ

มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ
ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ประวัติความเป็นมา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ เปิดสระว่ายน้ำ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ

          มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2497 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับมูลนิธิฯ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2498 ทั้งยังทรงพระอนุญาตให้เชิญอักษรย่อประนามาภิไธย ไว้ในเครื่องหมายของมูลนิธิฯ

ป้ายโรงเรียนสอนคนพิการ

          พ.ศ.2504 มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการเด็กพิการ ขึ้นที่ ถนนติวานนท์ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สำหรับเป็นที่พักระหว่างการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูแก่เด็กพิการที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด

          28 มิถุนายน พ.ศ.2504 ด้วยความช่วยเหลือจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุญาตให้ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ จัดตั้งโรงเรียนสอนคนพิการขึ้น อย่างเป็นทางการ 

พิธีเปิดโรงเรียนศรีสังวาลย์ (โรงเรียนสอนเด็กพิการ)

          ต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อโรงเรียนสอนคนพิการ โดยใช้พระนามของพระองค์ว่า “โรงเรียนศรีสังวาลย์” และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508

กำเนิดมูลนิธิ

          ราว พ.ศ. 2493-2495 ได้เกิดการระบาดของโรคโปลิโอ หรือโรคไข้ไขสันหลังอักเสบขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นโรคนี้เหมือนโรคประหลาดที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก นอกจากในวงการแพทย์… รู้กันแต่เพียงว่า โรคนี้ได้คร่าชีวิตของเด็กและเยาวชนไปมากมาย… ที่เหลือรอดชีวิตมาได้ ก็เหลือทิ้งไว้เพียงความพิการ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร และหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร

          ในขณะที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความช่วยเหลือกลับล่าช้าและไม่เพียงพอ ในช่วงเวลานั้นเอง ได้มีกลุ่มสุภาพสตรีจิตอาสากลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีทั้งขาวไทยและชาวต่างประเทศประมาณ 15 คน ได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเด็กพิการและผู้ที่ต้องประสบโรคร้ายนี้ โดยได้ร่วมเป็นอาสาสมัครนั่งรถรับ-ส่งเด็กพิการ

          หัวเรี่ยวหัวแรงหลักฝ่ายไทย คือ หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร โดยมีมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิและโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งประเทศไทย กับมิสไอลีน เดวิดสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ขององค์การสหประชาชาติ ร่วมด้วยนางสุมาลี จาติกวนิช     นางจีรวัสส์ ปันยารชุน คุณหญิงสมานใจ ดำรงแพทยาคุณ คุณหญิงเอิบสุข ไพรีระย่อเดช และอาจารย์จิรา สาครพันธ์

          แม้จะไม่ใช่มืออาชีพ แต่กลุ่มอาสาสมัครกลุ่มนี้ก็มีการวางแผน จัดตารางการทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ เช่น มีการเซ็นชื่อ ลงเวลาเข้าทำงานและเวลากลับ หากอาสาสมัครคนใดเจ็บป่วยหรือติดธุระ ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ก็จะติดต่อหาคนแทน หรือแจ้งให้ประธานกลุ่มทราบล่วงหน้า เพื่อจัดการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

          เมื่อประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น กอปรกับแนวทางการจัดสวัสดิการแก่เด็กพิการทั้งในด้านการป้องกัน การบำบัดรักษา และการฟื้นฟู เริ่มชัดเจนและเป็นระบบ       มิสไอลีน เดวิดสัน หนึ่งในสมาชิกชมรมอาสาสมัครก็ได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจว่า “การช่วยเหลือผู้พิการ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความเจ็บป่วยครั้งนั้น คงไม่ใช่แค่ระยะสั้นๆ แล้วจะสิ้นสุด เพราะเหตุว่ากว่าที่ผู้ป่วยเหล่านั้นจะฟื้นฟูสมรรถภาพของตัวเองได้ คงต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ผู้ป่วยจึงจะมีความสามารถในการดูแลตัวเอง และอยู่ร่วมกับครอบครัว อยู่ร่วมกับสังคมได้เป็นปกติสุข” และนี่เอง คือ การจุดประกายเริ่มต้นของการก่อตั้งมูลนิธิ ในเวลาต่อมา

          พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นผู้เสนอให้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นและได้ประทานเงินเพื่อเป็นทุนในการจัดตั้ง จำนวน 2,000 บาท โดยมี นางสุมาลีและนายแพทย์กษาน จาติกวณิช สามี ร่วมสมทบทุนเพิ่มอีก 2,000 บาท รวมเป็นทุนก้อนแรกในการก่อตั้งและจดทะเบียนชื่อ “มูลนิธิอนุเคราะห์คน-พิการ” เมื่อ พ.ศ. 2497 โดยรับช่วงกิจกรรมสงเคราะห์เด็กพิการต่อจากสถานสงเคราะห์แม่และเด็ก กรุงเทพฯ และมีคณะกรรมการแรกตั้ง 8 ท่าน ได้แก่ หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เป็นประธาน นางจีรวัสส์ ปันยารชุน หม่อมราชวงศ์สายสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ นางสาวกฤษณกัณฑ์ มลินทสุต พันโทสุรินทร์ แจ่มแสงรัตน์ นางสาวสุรภี กาญจนกมล มิสไอลีน เดวิดสัน และมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ เป็นกรรมการ

วัตถุประสงค์การก่อตั้งมูลนิธิ

สมเด็จย่าเสด็จฯ ทอดพระเนตรการบำบัดฟื้นฟูร่างกายเด็กพิการ

1. ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ สังคม การอาชีพแก่คนพิการทางกายการเคลื่อนไหวให้มีสุขภาวะทั้งด้านกายและใจและจิตวิญญาณ สามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระในสังคม

2. ให้บริการจัดการศึกษา สำหรับคนพิการระดับก่อนวัยเรียน  และวัยเรียนทั้งระบบประจำ   และไป – กลับ

3. ให้บริการช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวด้านสวัสดิการสังคมและการสังคมสงเคราะห์

4. ประสานงานกับชุมชนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัว

5. สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัว

6. ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสนับสนุนกิจกรรมการป้องกันความพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว