มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ

มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ
ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระราชประวัติ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า"สังวาลย์"

          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า “สังวาลย์” ทรงพระราชสมภพในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓ ในครอบครัวของพระชนก ชื่อ “ชู” พระชนนีชื่อ “คำ” ซึ่งเป็นครอบครัวสามัญชน อาชีพช่างทองตั้งนิวาสสถานอยู่ที่ธนบุรีละแวกวัดอนงคาราม ภายหลังพระญาติได้จดทะเบียนใช้นามสกุลว่า “ชูกระมล” แต่เมื่อต่างวายชนม์ลงก็ไม่มีผู้ใดใช้สกุลนี้อีกต่อไป

          เมื่อทรงพระเยาว์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงศึกษาในโรงเรียนวัดอนงคาราม แผนกเด็กนักเรียนหญิง ต่อมาทรงย้ายไป ศึกษาที่โรงเรียนของหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพกมลาสน์ โรงเรียนใกล้พระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสตรีวิทยาตามลำดับ

          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงกำพร้าพระชนกตั้งแต่มีพระชนมายุไม่มากนัก ต่อมาพระญาติได้นำขึ้นถวายตัวเป็นข้าหลวงรุ่นเด็กของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร)       พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี                        (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ครั้นเมื่อมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ก็ทรงกำพร้าพระชนนีอีก จึงทรงอยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ วไลยอลงกรณ์ตลอดมา

          เมื่อทรงออกจากโรงเรียนสตรีวิทยาแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช จนครบหลักสูตร ๓ ปี จากนั้นได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนเพื่อ คัดเลือกไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทุนเล่าเรียนที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศในขณะนั้น) ขอพระราชทานไว้สำหรับนักเรียนพยาบาลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด รัฐแมสสาชูแสตต์ สหรัฐอเมริกา ในเวลาที่อธิบดีกรมสาธารณสุขได้คัดเลือก นางสาวสังวาลย์ และนักเรียนพยาบาลอีกผู้หนึ่ง ส่งไปศึกษาต่อ อันเป็นเหตุให้ได้เข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรกในฐานะนักเรียนทุนของพระราชมารดา จนกลายเป็นที่สนิทเสน่หาในเวลาต่อมา

พระบรมราชชนก และพระบรมราชชนนี

          พุทธศักราช ๒๔๖๒ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้ทรงหมั้นนางสาวสังวาลย์ที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสตามกฎมณเฑียรบาล เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว นางสาวสังวาลย์จึง ได้เดินทางกลับมา และมีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม ในวันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๓ มีศักดิ์เป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา

          เมื่ออภิเษกสมรสแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดล กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ได้เสด็จฯ พร้อมหม่อม (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) กลับไปทรงศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาเฉพาะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นั้นได้ทรงศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน รัฐแมสสาชูแสตต์ ต่อมาก็ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนที่สถาบัน เอ็ม.ไอ.ที. ครั้นถึง พุทธศักราช ๒๔๖๕ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงประชวรพระวักกะ (ไต) ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จกลับประเทศ ไทยอีกครั้ง เพื่อตามเสด็จพระเชษฐภคินี ออกไปรักษาพระองค์ที่ต่างประเทศ พุทธศักราช ๒๔๖๖ สมาชิกใหม่แห่งราชสกุลมหิดลได้ประสูติที่ประเทศอังกฤษ และได้รับพระราชทานพระนามว่า “กัลยาณิวัฒนา” และในปลายปี เดียวกันนั้นได้เสด็จกลับประเทศไทย

          สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงรับราชการในกระทรวงธรรมการ ในตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป ทรงงานหนักทำให้พระพลานามัยทรุดโทรม แพทย์ถวายความเห็นให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่ประเทศเยอรมนีเมื่อกลาง พุทธศักราช ๒๔๖๘ และในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสูติพระโอรสที่เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี รับพระราชทานพระนามว่า “อานันทมหิดล” พุทธศักราช ๒๔๖๙ ได้ทรงย้ายไปประทับที่รัฐแมสสาชูแสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อทรงศึกษาต่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเข้าศึกษาวิชาคหกรรมศาสตร์ ณ วิทยาลัยซิมมอนส์

          ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงศึกษาต่อในวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จนทรงสำเร็จ การศึกษาได้รับปริญญาเกียรตินิยม ในปีพุทธศักราช เป็นปีที่พระโอรสองค์สุดท้ายประสูติที่โรงพยาบาลเมาท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ และได้รับพระราชทานพระนามว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” พุทธศักราช ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จฯ กลับประเทศไทย พร้อมด้วยพระธิดา พระโอรส ทรงเป็น “นายแพทย์” ที่สมบูรณ์และได้ทรงงานแพทย์ด้านการสาธารณสุขอย่างเต็มพระกำลังจนพระสุขภาพทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว และในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สวรรคต ณ พระตำหนัก วังสระปทุม ขณะนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษา ต้องทรงรับพระภาระเลี้ยงดูพระธิดาและพระโอรส ซึ่งมีพระชนมายุ ๖ พรรษา ๔ พรรษา และ ๒ พรรษา ตามลำดับ