มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ

มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ
ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ฝ่ายบริหารสำนักงาน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงฉายภาพร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ฯ

          จากวันแรกตั้งจวบจนวันนี้ เป็นเวลา 60 ปีที่มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ได้เรียนรู้ ได้พัฒนา ได้ฟันฝ่าอุปสรรคปัญหา และเติบโตเคียงคู่สังคมไทยมาตลอดจนอาจกล่าวได้ว่า มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ เป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวเนื่องจากสมอง (Cerebral Palsy) อย่างครบวงจร ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม และอาชีพ และยังเป็นต้นแบบให้อีกหลายๆ มูลนิธิดำเนินรอยตาม

       และการที่มูลนิธิเติบโต ก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ก็ด้วยพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณจากเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงให้การอุปถัมภ์กิจการของมูลนิธิฯ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แรกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงสานต่อพระราชปณิธาน จนมาถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสืบทอด และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ผู้ทรงให้การสนับสนุน ซึ่งทุกพระองค์ไม่เพียงทรงให้การอุปถัมภ์แต่ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และเอาพระทัยใส่ในกิจการของมูลนิธิ ทั้งการพระราชทานแนวทางการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานทั้งสิ้น ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างสูงสุด

          และที่ลืมไม่ได้อย่างเด็ดขาด คือ สายธารแห่งเมตตาและน้ำใจจากผู้มีจิตอันเป็นกุศลที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงมูลนิธิ ให้ดำรงสถานะที่มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

           แม้บริบทต่างๆ จะเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการจะเปลี่ยนไปกี่ชุดกี่สมัยแล้วก็ตาม หากแต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยน คือ เจตนารมณ์อันแน่วแน่และอุดมการณ์อันมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนพิการให้มีโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ช่วยเหลือตนเองได้ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวหรือสังคมมากนัก สนองตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

          เพื่อให้งานต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น ทันโลก ทันเหตุการณ์ มูลนิธิจึงต้องปรับตัว ปรับปรุง และพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งในด้านการบริหารงาน การบริหารคน และการบริหารเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดหาทุนและการบริหารเงินทุนที่มีอยู่ให้มีการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เกิดดอกออกผลที่งอกเงย เพื่อให้มูลนิธิเป็นเสาหลักที่มั่นคง และสามารถช่วยเหลือผู้พิการได้อย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง ยั่งยืนตลอดไป

บริหารงาน : วางแผนอย่างรอบคอบ กำหนดกรอบชัดเจน

การประชุมประจำเดือนคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ
การจัดซุ้มร่วมกิจกรรมงานเปิดบ้านโรงเรียนศรีสังวาลย์
การจัดอบรมทบทวนมาตรฐาน ISO

          การดูแลคนพิการ ถือเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนและชับซ้อนอย่างยิ่ง ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพแต่ยังเชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิดที่อ่อนไหวเปราะบางของผู้พิการโดยตรง อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับผู้คนและเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก ที่สำคัญที่สุด คือ การเป็น “องค์กรในพระราชูปถัมภ์” ซึ่งเท่ากับอยู่ภายใต้ “ร่มพระบารมี” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งย่อมถูกสังคมคาดหวังและถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดอีกมากมาย ทั้งด้านงบประมาณและกรอบเวลา และเนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของเด็กโดยตรง บางเรื่องจึงเร่งด่วนและรอช้าไม่ได้ การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ ทั้งแผนระยะสั้น แผนระยะยาว แผนเฉพาะหน้า และแผนสำรองในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทั้งนี้เพื่อให้มีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนลดความช้ำช้อน สูญเสีย หรือสิ้นเปลือง ลดความเสี่ยง และข้อผิดพลาด ตลอดจนเพื่อจัดสรรบุคลากรและงบประมาณที่มีอยู่จำกัดอย่างเหมาะสม คุ้มค่า เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน

เพิ่มคุณภาพการบริหารจัดการ ตามมาตรฐาน ISO

          เพื่อให้มูลนิธิเจริญก้าวหน้า เป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มูลนิธิจึงได้จัดระบบการบริหารจัดการให้ได้ตามมาตรฐาน ISO ซึ่งช่วยให้กระบวนการทำงานชัดเจนเป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมีเป้าหมายและการวัดผลที่เป็นรูปธรรม ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญที่สุด คือ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มความพึงพอใจ และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีจิตศรัทธาและสังคมรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

          และเป็นที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่มูลนิธิ เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรองค์กรแรกของประเทศที่นำระบบ ISO มาใช้ และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2000 ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2546 และได้พัฒนาสู่ระบบ ISO 9001:2008 ใน พ.ศ. 2553 จนปัจจุบันได้พัฒนาสู่ระบบ ISO 9001:2015 นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กรด้านคนพิการระดับดีมาก จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามมาตรฐาน ISO

บริหารเงิน : ยึดมั่นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดประชุมสามัญประจำปี 2566 เพื่อดำเนินการตามข้อบังคับของมูลนิธิ พิจารณาผลการดำเนินการ งบการเงินประจำปี แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิที่ครบวาระโดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นางสุพัชนา อัษฎาธร เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ แทนประธานกรรมการมูลนิธิที่ครบวาระตามข้อบังคับ
นางสมจิตร์ รามนันทน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ นายสุมนต์ แป้นศรี ผู้ตรวจสอบภายใน นายสมชาติ ไกรวีร์ ที่ปรึกษาด้านบัญชี และกลุ่มงานบัญชีและการเงิน ประชุมร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเปิดตรวจสอบงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยการกำกับดูแลของนางสุนทรี ตะเพียนทอง ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 20 นางสาววรรณพร เกิดร้องขุ้ม หัวหน้าผู้ปฏิบัติงานและ คณะผู้ปฏิบัติงาน
การรับบริจาคของมูลนิธิ
มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ได้รับเชิญร่วมเปิดบู๊ตรับบริจาค ในงานวันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง

 

          เนื่องจากมูลนิธิเป็นองค์กรการกุศล ที่ดำรงสถานะอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น การช่วยเหลือและสนับสนุนของผู้จิตศรัทธาทั้งหลายจึงเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ที่หล่อเลี้ยงมูลนิธิ ให้เจริญก้าวหน้าและมีความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ ความยากในการบริหารงานมูลนิธิ จึงมิใช่แค่การดูแลคนพิการให้ดีที่สุด หรือการหาทุนให้ได้ตามเป้าหมาย แต่คือ การรักษา “ศรัทธา” “ความเชื่อถือ” และ “ความไว้วางใจ” ซึ่งถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ให้คงอยู่ตลอดไป ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการต่างๆ จึงต้องเปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่

          การระดมทุนอย่างโปร่งใส ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่า 28 ล้านบาทต่อปี การระดมทุนจึงถือเป็นภาระหนักอึ้งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนในแต่ละครั้ง มูลนิธิจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและเข้าใจวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือ ศรัทธา ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้วยการบริจาคเงินและสิ่งของ กิจกรรมหาทุนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่น การจัดกิจกรรมออกร้าน จัดนิทรรศการตามห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ต่างๆ การจัดงานสืบสานพระราชปณิธานและพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตลอดจนการขอทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชนเพื่อให้ได้ทุนมาดำเนินการในโครงการต่างๆ อย่างเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยากที่สุดในการระดมทุน มิใช่อยู่ที่การหาเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แต่คือ ต้องจัดกิจกรรมระดมทุนอย่างไร ให้พอเหมาะ พอดี และไม่สร้างความรำคาญหรือความเดือดร้อนให้ผู้บริจาค ด้วยเหตุนี้มูลนิธิ จึงมิได้จัดกิจกรรมระดมทุนบ่อยครั้ง แต่จะจัดเฉพาะในโอกาสสำคัญหรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

การใช้จ่ายเงินบริจาคอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เงินที่ได้มาถูกใช้ไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

  1. ค่าใช้จ่ายของศูนย์บริการคนพิการ ซึ่งจะนำไปใช้ในการบำบัดรักษา การจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ การจัดซื้อ จัดทำเครื่องมือกายอุปกรณ์ แขนเทียม ขาเทียม เฝือกเหล็ก รถเข็น และอุปกรณ์ช่วยเดิน รวมทั้งยารักษาโรคเพื่อรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจนกว่าจะมีพัฒนาการช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ
  2. ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งจะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอน ชุดนักเรียน ทุนการศึกษาแก่เด็กที่ต้องการเรียนต่อชั้นมัธยมและอุดมศึกษา

และ 3. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ทั้งค่าอาหารค่าที่พัก ค่าจ้างบุคลากรของศูนย์บริการคนพิการ และโรงเรียนศรีสังวาลย์ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา ฯลฯ

การตรวจสอบที่เข้มงวด และเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธามั่นใจว่า “เงินทุกบาททุกสตางค์” ที่ได้รับบริจาคมานั้นจะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าและโปร่งใสที่สุด มูลนิธิจึงได้เชิญ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาเป็นผู้ตรวจบัญชี ซึ่งนับเป็นองค์กรเอกชนการกุศลองค์กรแรกที่ดำเนินการในลักษณะนี้

วางแผนการใช้จ่าย

ผู้บริจาคมั่นใจ มูลนิธิมั่นคง

          ด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีตามจำนวนผู้อยู่ในความอนุเคราะห์ และตามปัจจัยภายนอกที่ผันแปรไม่แน่นอน คณะกรรมการรุ่นก่อนๆ จึงเห็นว่าควรที่จะต้องสร้างความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากคนพิการจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องไม่ว่าเหตุการณ์ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากไม่มีเงิน ทุกอย่างจะสะดุดทันที ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการวางแผนการจัดการการเงินอย่างเป็นระบบโดยแบ่งเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป

          ส่วนที่ 1 คือ กองทุนต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ เป็นกองทุนที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะนำดอกผลที่ได้ไปใช้ทำอะไร เช่น กองทุนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กองทุนการกุศลสมเด็จย่า กองทุนนายเกรียง กีรติกร ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

          ส่วนที่ 2 กองทุนทั่วไป เป็นกองทุนสำหรับจับจ่ายใช้สอยโดยทั่วไป

          ส่วนที่ 3 กองทุนสำรองถาวร เป็นกองทุนที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามใช้เงินต้นเด็ดขาด” และทุกๆ ปี ต้องนำดอกผลที่ได้รับจากกองทุนสำรองถาวรมาสมทบเข้ากองทุนสำรองถาวรปีละร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้กองทุนสำรองถาวรมีเงินเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ส่วนดอกผลที่เหลือจะจัดสรรไปสู่กองทุนต่างๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นเหมาะสม

บริหารคน : สร้างบุคลากรคุณภาพ เพื่อคุณภาพในการดูแลคนพิการ

นางสุพัชนา อัษฎาธร ประธานกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ฯ และนางอรพรรณ สุวรรณรัตน์ ประธานกรรมการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในทุนการกุศลสมเด็จย่า เปิดอบรมการพัฒนาบุคลากร เรื่องการเขียนหนังสือราชการ หนังสือโต้ตอบเเละรายงานการประชุม โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา และอาจารย์ชมพร เพชรอนันต์กุล
การจัดอบรมสัมมนาประจำปี ด้านคุณธรรมและความสามัคคี โดยวิทยากร ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ
การจัดอบรมให้ความรู้ เรื่องการประหยัดพลังงาน
การจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจภายในองค์กร

 

          ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การที่มูลนิธิเติบโต ก้าวหน้า ปฏิบัติภารกิจดังที่กล่าวมาได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพประสิทธิผลนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากขาด “บุคลากร” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน มูลนิธิจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบุคลากร ตั้งแต่

          การคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมงาน โดยต้องมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์และการศึกษาด้วยแล้วต้องเป็นนักวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ครูการศึกษาพิเศษ และเหนืออื่นใด คือ ต้องมีจิตอันเป็นกุศล พร้อมที่จะเสียสละอุทิศตน และมีใจรักในงานที่ทำ พร้อมดูแลและรับผิดชอบงานของมูลนิธิอย่างเต็มกำลังความสามารถ

          พิจารณาค่าจ้างและผลตอบแทนที่เหมาะสม เนื่องจากการดูแลเด็กพิการเป็นงานที่ยาก หนัก และเหนื่อยกว่างานปกติทั่วไป มูลนิธิจึงพิจารณาให้ค่าตอบแทนบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการทำงาน เพราะมูลนิธิ เชื่อว่า หากบุคลากรมีคุณภาพผู้พิการก็จะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพด้วยเช่นกัน

          การพัฒนาบุคลากร เพื่อให้บุคลากรไม่เพียงเป็น “คนเก่ง” แต่ยังเป็น “คนดี” และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนมูลนิธิไปสู่ความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป มูลนิธิจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาบุคลากรทั้งในแง่ของการเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงาน โดยจะมีการส่งบุคลากรไปฝึกอบรม สัมมนา เรียนรู้ ฝึกทักษะทางวิชาชีพที่สำคัญๆ เพิ่มเติม

อยู่เสมอๆ และที่ขาดไม่ได้เลย คือ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังจิตสำนึก การคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวม และการมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

ปลูกฝังความสามัคคี แม้ว่าการทำงานจะมีการแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่งานต่างๆจะสำเร็จราบรื่นเรียบร้อยไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กร มูลนิธิจึงมุ่งสร้างเสริมความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในองค์กร โดยจัดการอบรมและสนับสนุนให้บุคลากรฝ่ายต่างๆ ได้มีกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ

60 ปี เดินหน้า

มุ่งมั่นพัฒนา ไม่หยุดนิ่ง

          จากอดีตสู่ปัจจุบัน แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 60 ปี มูลนิธิก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันโลก ทันเหตุการณ์ ด้วยปณิธานสูงสุดในการให้ความอนุเคราะห์ผู้พิการให้มีโอกาสในสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          และภายภาคหน้า ไม่ว่าสถานการณ์โลกและสภาวะบ้านเมืองจะผันแปรไปอย่างไร หรือจะต้องพานพบกับอุปสรรคปัญหาหรือวิกฤตที่หนักหนาเพียงไหน ตราบที่ยังมีพระบารมีปกเกล้าฯ และสายธารแห่งเมตตาจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทุกคนก็พร้อมทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ฟันฝ่าทุกอุปสรรคปัญหาอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อขับเคลื่อนมูลนิธิให้ยืนหยัดอย่างมั่นคง เดินหน้าหยิบยื่นโอกาสและความหวังให้แก่ผู้พิการได้อย่างยั่งยืนตลอดไป